Sustainable Development Goals, SDGs

Sustainable Development Goals, SDGs

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การเติบโตทางเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเป็นอยู่ของประชากรโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประชากรในสังคมเมืองมีแนวโน้มความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงทรัพยากรและการบริการขั้นพื้นฐานได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด การรับรู้ข่าวสารได้อย่างฉับไว การศึกษาและการใช้เทคโนโลนีสารสนเทศเพื่อการประกอบอาชีพ และการดูแลสุขภาพอนามัย อย่างไรก็ดีจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ (United Nations, UN) ในปี ค.ศ. 2020 ระบุว่า ยังมีประชากรโลกกว่าอีก 800 ล้านคน กำลังประสบปัญหาภาวะอดอยากและเผชิญหน้ากับความหิวโหย ขณะที่ประชากรโลกกว่า 2.3 พันล้านราย หรือคิดเป็น 30% ของประชากรโลก กำลังประสบปัญหาปริมาณอาหารที่ไม่เพียงพอตลอดทั้งปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางด้านอาหารของโลก นอกจากนี้ยังเกิดความรุนแรงและความขัดแย้งในหลายประเทศ สงครามกลางเมืองและสงครามระหว่างประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก และการลี้ภัย

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ประเทศไทยและประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ โดยกำหนดให้มี เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกันทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อยุติความยากจน ความหิวโหย ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งปกป้องทรัพยากรโลก และทำให้แน่ใจว่าภายในปี 2030 ทุกคนจะได้รับสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและไม่ลิดรอนสิทธิของประชากรในรุ่นถัดไป

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ซึ่งการดำเนินการมีความเชื่อมโยงกันและครอบคลุม 5 มิติ (5P) ได้แก่
(1) People – มิติด้านสังคม การพัฒนาคนเพื่อขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
(2) Plante – มิติด้านสิ่งแวดล้อม การปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศ เพื่อประชากรโลกรุ่นถัดไป
(3) Prosperity – มิติด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้องกับธรรมชาติ
(4) Peace – สันติภาพและความยุติธรรม การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุข และไม่แบ่งแยก
(5) Partnership – ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมาย ประกอบด้วย
เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจนทกุรูปแบบในทุกพื้นที่
เป้าหมายที่ 2 : ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 3 : สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย
เป้าหมายที่ 4 : สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เป้าหมายที่ 5 : บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมอำนาจให้แก่สตรีและเด็กหญิง
เป้าหมายที่ 6 : สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 7 : สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่อย่างยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา
เป้าหมายที่ 8 : ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 9 : สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
เป้าหมายที่ 10 : ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ
เป้าหมายที่ 11 : ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน
เป้าหมายที่ 12 : สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 13 : ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
เป้าหมายที่ 14 : อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 15 : ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เป้าหมายที่ 16 : ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ
เป้าหมายที่ 17 : เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *