nanosheet

nanosheet

กระบวนการผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาแพลเลเดียมแบบนาโนชีท (nanosheet)

ในปัจจุบันการผลิตพลังงานสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก การใช้พลังงานสะอาดจะช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทำให้ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลดลง พลังงานสะอาดส่วนหนึ่งสามารถผลิตได้จากกระบวนการทางเคมีที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการ เช่น ตัวเร่งปฏิกิริยาแพลเลเดียม (Pd) ในทางอุตสาหกรรมแพลเลเดียมถูกใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (electrolysis) เพื่อแยกโมเลกุลของน้ำออกเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจน หลังจากนั้นไฮโดรเจนในเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) จะถูกนำไปใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

โดยปกติแล้วตัวเร่งปฏิกิริยาแพลเลเดียมจะมีลักษณะเป็นอนุภาคทรงกลมขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามหากผิวภายนอกของตัวเร่งปฏิกิริยามีลักษณะบางลงและแบนราบมากขึ้นจะทำปริมาณการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาลดลงและทำให้ตัวเร่งปฏิกิริยามีพื้นที่ผิวในการเกิดปฏิกิริยามากขึ้น

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนาโงยะได้พัฒนากระบวนการสังเคราะห์แพลเลเดียมแบบใหม่ให้มีลักษณะเป็นนาโนชีท และกระบวนการทั้งหมดสามารถทำได้ภายในเครื่องปฏิกรณ์เดียว (one-pot method) ตัวเร่งปฏิกิริยาที่สังเคราะห์ได้จะมีความหนา 1-2 นาโนเมตร และมีลักษณะเป็นแผ่นบางที่เทียบได้กับขนาดของสายโซ่ DNA หรือขนาดของสาร 1 โมเลกุลเท่านั้น

วิธีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ใช้พลังงานน้อย มีความปลอดภัยและไม่ซับซ้อน สามารถทำได้ที่อุณหภูมิต่ำเพียง 75°C และใช้เวลาในการสังเคราะห์เพียง 1 ชั่วโมง แผ่นนาโนชีทที่ได้จะมีความหนาและขนาดที่สม่ำเสมอ มีพื้นที่ผิวมากกว่าชนิดที่เป็นทรงกลม 2.8 เท่า และสามารถเกิดปฏิกิริยาได้ดีกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาแบบเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันถึง 2 เท่า

จากความก้าวหน้าในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตไฮโดรเจนในอนาคตและคาดว่าจะแพร่ขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆด้วยเช่นกัน

Source : https://www.chemeurope.com/en/news/1182268/the-one-pot-nanosheet-method-catalyzing-a-green-energy-revolution.html

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *