Enchanced enzymatic digestibility of water lettuce by liquid hot water pretreatment

เทคโนโลยีในการปรับสภาพด้วยน้ำร้อนของจอก (Water lettuce) เพื่อแปรรูปเป็นน้ำตาล

ศ.ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย นักวิจัยในเครือข่าย CBRC ร่วมกับ ผศ.ดร.อัครินทร์ บุญสมบัติ พัฒนาเทคโนโลยีในการปรับสภาพด้วยน้ำร้อนของจอก (Water lettuce) เพื่อแปรรูปเป็นน้ำตาล
ผลงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Bioresource Technology Reports (Q2 Journal, JCR IF = 4.82)

ชีวมวลประเภทลิกโนเซลลูโลส (Lignocellulosic biomass) เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและสารเคมีชีวภาพ (Biofuels and biochemicals) อย่างไรก็ดีโครงสร้างที่ยึดเกาะกันอย่างแข็งแรงของเซลลูโลส (Cellulose) เฮมิเซลลูโลส (Hemicellulose) และลิกนิน (Lignin) ทำให้ยากต่อการแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ ด้วยเอนไซม์

การปรับสภาพ (Pretreatment) จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญในการย่อยโครงสร้างชีวมวล เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิว และเตรียมความพร้อมต่อการแปรรูปด้วยเอนไซม์ ซึ่งส่งผลให้สามารถผลิตน้ำตาลได้ในปริมาณที่สูงขึ้น การปรับสภาพด้วยน้ำร้อน (Liquid hot water pretreatment) เป็นวิธีการทางเคมีกายภาพ (Physicochemical method) ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีการอื่น เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย มีการกัดกร่อนน้อย และใช้ระยะเวลาในการปรับสภาพน้อย

จอก (Water lettuce) เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งที่มีอยู่มากและจัดเป็นวัชพืชในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนในการบดบังแสงอาทิตย์ลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำอย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยนี้ศึกษาเทคโนโลยีในการปรับสภาพของจอกเพื่อหาภาวะที่เหมาะสมในการผลิตน้ำตาล โดยจากการศึกษาพบว่า จอกที่ผ่านการปรับสภาพด้วยน้ำร้อนในภาวะที่เหมาะสมสามารถนำไปผลิตน้ำตาลได้มากกว่าจอกที่ไม่ผ่านการปรับสภาพถึง 2.62 เท่า

อ่านงานวิจัยนี้ได้ที่ doi.org/10.1016/j.biteb.2022.101100 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *