Catalyst for corn-based value-added chemicals production

ตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการผลิตสารเคมีมูลค่าเพิ่มจากข้าวโพด

ในปัจจุบันกรดอะคริลิก (acrylic acid) และสารอะคริเลต (acrylates) ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตสี สารเคลือบผิว กาว และวัสดุดูดซับน้ำในผ้าอ้อมเด็ก ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาสารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกผลิตขึ้นมาจากปิโตรเลียม อย่างไรก็ตามในช่วงหลายสิบปีให้หลัง อุตสาหกรรมข้าวโพดได้ขยายตัวและเติบโตขึ้นอย่างมากจนขยายไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตสารเคมีชนิดต่างๆ ที่มีมูลค่า สารเคมีชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นมาได้จากข้าวโพด คือ กรดแลคติก (lactic acid) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในการผลิตพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ กรดแลคติกนี้ยังสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นกรดอะคริลิกและสารอะคริเลตได้โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตามกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมมีข้อจำกัดในการผลิต ทำให้ได้ผลผลิตน้อยและมีค่าใช้จ่ายสูง

เมื่อไม่นานมานี้ทีมวิจัยร่วมจากหลายมหาวิทยาลัย นำโดยมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ทวินซิตีส์ (University of Minnesota Twin Cities) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตกรดอะคริลิกและสารอะคริเลตจากข้าวโพดขึ้นมาใหม่โดยการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่พัฒนาขึ้นมาโดยทีมวิจัย โดยเมื่อเทียบกับตัวเร่งปฏิกิริยาประเภทอื่นๆ ที่มีในปัจจุบันพบว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า สามารถให้ผลผลิตที่สูงขึ้นและมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่าการผลิตจากปิโตรเลียม

การวิจัยในครั้งนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุน 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากหน่วยงานของรัฐบาล สมาคมภาคธุรกิจ และองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมข้าวโพดในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกด้านการผลิตและการนำกลับมาใช้ใหม่ ในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปพัฒนาต่อโดยบริษัท Låkril Technologies ที่ตั้งอยู่ที่เมืองชิคาโก ซึ่งเป็นบริษัท start-up ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตสารเคมีมูลค่าเพิ่มจากการนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีแผนดำเนินการศึกษาและพัฒนาการออกแบบตัวเร่งปฏิกิริยาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยทีมวิจัยเชื่อว่าการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้จะนำไปสู่กระบวนการผลิตใหม่ๆ และเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริง

(Source : https://www.chemeurope.com/en/news/1179102/catalyst-to-make-renewable-paints-coatings-and-diapers-discovered.html )

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *