BCG as new economic model for sustainability

BCG โมเดลเศรษฐกิจแนวใหม่เพื่อความยั่งยืน

BCG โมเดลเศรษฐกิจแนวใหม่เพื่อความยั่งยืน

ช่วงนี้หลายคนอาจจะได้เห็นหรือได้ยินคำว่า BCG อยู่บ่อยครั้งผ่านสื่อต่างๆ เนื่องจากกำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนที่สอดรับกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals, SDGs) ของสหประชาชาติ และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของประเทศไทย

BCG เป็นตัวอักษรย่อที่มาจากคำ 3 คำ คือ Bio-economy, Circular economy และ Green economy ซึ่งถือเป็นโมเดลเศรษฐกิจแนวใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นกลไกในการขับเคลื่อน โดยเริ่มเกิดขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนต่างให้ความสำคัญกับเมกกะเทรนด์นี้ เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การลดปัญหาสภาวะโลกร้อน (Global warming) การรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของโลก และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ก่อนที่จะอธิบายว่า BCG มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างไร เราลองมาดูความหมายของ BCG

B: Bio-economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เป็นเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาต่อยอดทรัพยากรชีวภาพ หรือผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นรากฐานของประเทศ เพื่อให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาพอากาศและศัตรูพืช การแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น

C: Circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่าง ๆ ให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อลดของเสียหรือของเหลือทิ้งที่เกิดจากกระบวนการผลิตให้มีปริมาณน้อยที่สุดหรือเท่ากับศูนย์ (Zero waste) เช่น การนำของเสียมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือสารเคมีที่มูลค่าสูงขึ้น เป็นต้น

G: Green economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว เป็นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อโลก และสร้างความสมดุลระหว่างสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น การใช้จุลชีพแทนสารเคมีอันตรายในการกำจัดศัตรูพืช การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนโมเดล BCG เป็นวาระแห่งชาติใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและสารเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล่านี้มีสัดส่วนใน GDP ของประเทศไทยถึง 21% และเกี่ยวข้องกับอาชีพและการจ้างงานของประชากรในประเทศมากกว่า 16.5 ล้านคน โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของ GDP ของ 5 อุตสาหกรรมนี้เป็น 24% ภายใน 5 ปี หรือเพิ่มจาก 3.4 ล้านล้านบาท ในปี 2563 เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ในปี 2568

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *