A systematic and critical review on effective utilization of artificial intelligence for bio-diesel production techniques

ศ.ดร.ชวลิต งามจรัสศรีวิชัย นักวิจัยของ CBRC ร่วมกับ Dr. Junaid Ahmad, Dr. Muhammad Awais, Assoc. Prof. Dr. Umer Rashid, ‪ Assoc. Prof. Dr. Salman Raza Naqvi และ Assoc. Prof. Dr. Imtiaz Ali ทบทวนเชิงวิพากษ์อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการผลิตไบโอดีเซล

ผลงานวิจัยเรื่อง A systematic and critical review on effective utilization of artificial intelligence for bio-diesel production techniques ตีพิมพ์ในวารสาร Fuel (Tier 1 Journal, JCR IF = 6.609)

เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuels) เป็นแหล่งพลังงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโลกนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) และการเกิดโลกาภิวัตน์ (Globalization) อย่างไรก็ดี วิกฤตการณ์ขาดแคลนพลังงาน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Tensions) ส่งผลให้ราคาของเชื้อเพลิงฟอสซิลคงตัวอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ผลกระทบของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อระบบนิเวศทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ชีวมวล (Biomass) เป็นทรัพยากรหมุนเวียน (Renewable Resources) ที่มีความเป็นไปได้ในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากการมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก เป็นแหล่งคาร์บอนธรรมชาติ และสามารถนำมาแปรรูปเป็นแหล่งพลังงานได้หลายรูปแบบ ไบโอดีเซล (Biodiesel) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากชีวมวล และได้รับการยอมรับในฐานะผลิตภัณฑ์ทดแทนน้ำมันดีเซล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการขนส่ง ด้วยเหตุนี้จึงมีงานวิจัยจำนวนมากที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตไบโอดีเซล รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาจัดการกับปัญหาทางด้านวิศวกรรมที่ซับซ้อน ทั้งนี้มีการศึกษาน้อยมากที่ประยุกต์ใช้การเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ในการผลิตไบโอดีเซลและการทำนายคุณสมบัติของไบโอดีเซล

บทความนี้ได้รวบรวมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ล้ำสมัยสำหรับการผลิตไบโอดีเซล โดยวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบถึงข้อดีและข้อเสียของแบบจำลองต่าง ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab Scale) ที่สามารถช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิต และทำนายคุณภาพของไบโอดีเซล อย่างไรก็ดีการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในระดับนำร่อง (Pilot Scale) หรือระดับอุตสาหกรรม (Industrial Scale) ยังมีความท้าทายอยู่มาก ด้วยเหตุนี้การรวบรวมและวิเคราะห์ในบทความนี้คาดว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับการประยุกต์ในทุกขั้นตอนของการผลิตไบโอดีเซลตั้งแต่การการเลือกวัตถุดิบที่เหมาะสม การปรับกระบวนการผลิตให้เหมาะสม การประเมินคุณภาพไบโอดีเซล และการประเมินพฤติกรรมการเผาไหม้ภายในเครื่องยนต์ เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังของของประชาคมโลก

อ่านบทความนี้ได้ที่ doi.org/10.1016/j.fuel.2022.127379

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *