โรงกลั่นชีวภาพจากสาหร่าย (Algal biorefinery) แห่งแรกในทวีปยุโรป

     โรงกลั่นชีวภาพหรือไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ขนาดใหญ่แห่งแรกในยุโรป ที่สามารถแปรรูปสาหร่ายไปเป็นเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ได้สร้างเสร็จแล้ว ณ ชายฝั่งทะเลดำ (Black Sea) ใกล้เมืองอิสตันบูล (Istanbul) ประเทศตุรกี
 
     โรงกลั่นแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อแปรรูปสาหร่ายขนาดเล็ก (microalgae) และขนาดใหญ่ (macroalgae) ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (sustainable aviation fuel : SAF) วัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาหารเสริม และปุ๋ย สาหร่ายเหล่านี้มีความสามารถในการดักจับแก๊สคารบ์อนไดออกไซด์ (CO2) เหมือนกับพืชชนิดอื่นๆ แต่ทำได้ในปริมาณที่มากกว่าและเร็วกว่าพืชจำพวกไม้ยืนต้น นอกจากนี้กระบวนการแปรรูปสาหร่ายมีการปลดปล่อย CO2 ในปริมาณที่น้อยกว่าปริมาณ CO2 ที่ถูกดักจับไว้ในระหว่างการเจริญเติบโตของสาหร่ายเหล่านี้ ดังนั้นปริมาณคาร์บอนสุทธิจึงติดลบ หรือ “carbon negative”
 
     โครงการนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลตุรกีและสหภาพยุโรป โดยเป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกเรียกว่า “Project INDEPENDENT” มีที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัย โบกาซิซี่ (Boğaziçi University) วิทยาเขต ซาริเทเพ (Saritepe campus) ซึ่งสามารถแปรรูปสาหร่ายได้ 1,200 ตันต่อปี SAF ที่ผลิตขึ้นจะถูกนำไปผสมกับน้ำมันอากาศยานจากปิโตรเลียมในสัดส่วน 5-10% และจะเริ่มนำไปใช้ที่สนามบินในเมืองอิสตันบลูในปลายปีนี้
 
     นอกจากนี้สาหร่ายเหล่านี้ยังสามารถดักจับฟอสฟอรัสและไนโตรเจนที่เกิดมาจากการกัดเซาะของหน้าดินจากอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งทำให้เกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำจืดและแหล่งทรัพยากรชายฝั่ง ดังนั้นโครงการนี้จึงก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมากทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในยุโรป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *