Bifunctionality of amine-modified metal-organic frameworks for CO2 capture and selective utilization in cycloaddition

Dr. Jasminder Singh นายศุภธีร์ เชาวมาลี นายหาญณรงค์ พิทยชินโชติ นายชนสิษฎ์ แก้วงาม นายอติคุณ โชติรัตนโชติ นายณัฐภัทร เทียนสุวรรณ และ ศ.ดร.ชวลิต งามจรัสศรีวิชัย นักวิจัยของ CBRC ร่วมกับ ศ.ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ (ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวัสดุสีเขียวสำหรับการประยุกต์เชิงอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และ Prof. Dr. Toshiyuki Yokoi (Nanospace Catalysis Unit, Tokyo Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น) ประยุกต์ใช้โครงข่ายโลหะ−สารอินทรีย์ (Metal−organic Frameworks: MOF) ที่ผ่านการดัดแปรด้วยหมู่ฟังก์ชันเอมีน (Amine functionalization) สำหรับการเร่งปฏิกิริยาไซโคลแอดดิชัน (Cycloaddition) แบบเลือกจำเพาะเพื่อผลิต Cyclic carbonates หรือ Carbonate oligomers

ผลงานวิจัยเรื่อง Bifunctionality of amine-modified metal-organic frameworks for CO2 capture and selective utilization in cycloaddition ตีพิมพ์ในวารสาร Carbon Capture Science & Technology (Tier1 Journal, JCR IF = 10.4)

การเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในช่วงที่ผ่านมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยน CO2 เป็นสารเคมีมูลค่าเพิ่มเป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการลดปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศ Cyclic carbonates (CC) เป็นสารเคมีที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมในฐานะตัวทำละลายสีเขียว (Green solvent) หรืออิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Lithium-ion battery) ทั้งนี้กระบวนการผลิต CC แบบดั้งเดิมมีการใช้ฟอสจีน (Phosgene) ซึ่งมีความเป็นพิษสูง การผลิต CC ผ่านปฏิกิริยาไซโคลแอดดิชัน (Cycloaddition) ด้วย CO2 จึงได้รับความนิยมและมีความยั่งยืน Carbonate oligomers (COL) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากโอลิโกเมอไรเซชัน (Oligomerization) ของ CC ซึ่งถูกใช้เป็นสารเติมแต่งที่ช่วยลดความหนืดในการผลิตพอลิคาร์บอเนต (Polycarbonates) อย่างไรก็ดีการศึกษาการเกิดโอลิโกเมอไรเซชันของสารประกอบดังกล่าวได้รับความสนใจน้อยมากเมื่อเทียบกับการผลิต CC

โครงข่ายโลหะ−สารอินทรีย์ (Metal−organic Frameworks: MOFs) เป็นวัสดุที่มีศักยภาพในการดูดซับและการเร่งปฏิกิริยา การดัดแปร MOF โดยใช้สารอินทรีย์ที่ประกอบด้วยหมู่ฟังก์ชันเอมีน เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความสามารถการดูดซับ CO2 ในส่วนของโลหะศูนย์กลาง โครเมียม (Cr) และทองแดง (Cu) เป็นโลหะที่มีสมบัติความเป็นกรดลิวอิส (Lewis acid) ที่ดี ซึ่งช่วยเร่งปฏิกิริยาไซโคลแอดดิชันเพื่อผลิต CC MIL-101(Cr) และ HKUST-1 เป็น MOF ฐานโครเมียม และทองแดง ตามลำดับ ที่ได้รับความนิยมในการใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา อย่างไรก็ดี วิธีการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้มีการใช้กรดไฮโดรฟลูออริก ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย การพัฒนาวิธีการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาโดยปราศจากการใช้สารเคมีอันตราย โดยที่ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เตรียมได้ยังคงสมบัติทางเคมีกายภาพและความสามารถในการเร่งปฏิกิริยาได้ดีจึงเป็นแนวทางที่มีความน่าสนใจ

งานวิจัยนี้ศึกษาการผลิต Styrene carbonate (SC) และ COL แบบเลือกจำเพาะ จาก Styrene oxide (SO) ผ่านปฏิกิริยาไซโคลแอดดิชัน โดยใช้ MIL-101(Cr) และ HKUST-1 ที่ดัดแปรด้วยหมู่ฟังก์ชันเอมีนและสังเคราะห์โดยปราศจากการใช้สารเคมีอันตรายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา จากผลการศึกษาพบว่า ในภาวะที่ปราศจากตัวทำละลายและใช้ Tetrabutylammonium bromide เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาร่วม MIL-101(Cr)-NH2 และ HKUST-1-NH2 ให้การเปลี่ยน (Conversion) ของ SO ไปเป็น COL ได้มากกว่า MIL-101(Cr) และ HKUST-1 ที่ไม่ผ่านการดัดแปร เนื่องจากความสามารถในการดูดซับ CO2 ที่สูงขึ้น โดยให้ผลได้ (Yield) ของ COL สูงถึง 72.4% สถานะออกซิเดชัน (Oxidation stage) ของ Cr ที่สูงกว่า Cu ส่งผลให้ MIL-101(Cr)-NH2 สามารถเปลี่ยน SO ไปเป็น SC และ COL ได้ดีกว่า HKUST-1-NH2 การใช้ Acetonitrile เป็นตัวทำละลายในระบบการเร่งปฏิกิริยาในภาวะที่เหมาะสมสามารถปรับการเลือกจำเพาะของผลิตภัณฑ์ไปเป็น SC ได้อย่างดีเยี่ยม โดยให้การเปลี่ยนของ SO ได้มากกว่า 99% และผลได้ของ SC yield สูงถึง 97 % งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยแรกที่นำเสนอระบบการเร่งปฏิกิริยาไซโคลแอดดิชันแบบเลือกจำเพาะเพื่อผลิต COL หรือ SC

อ่านรายละเอียดงานวิจัยนี้ได้ที่: doi.org/10.1016/j.ccst.2024.100262