In-situ development of boron doped g-C3N4 supported SBA-15 nanocomposites for photocatalytic degradation of tetracycline

ศ. ดร. อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย นักวิจัยของ CBRC ร่วมกับ รศ. ดร. ศุภกร บุญยืน และ Dr. Paramasivam Shanmugam (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และ รศ. ดร. ศิวพร มีจู สมิธ (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) นำเสนอแนวทางการกำจัดสารอินทรีย์ปนเปื้อนในแหล่งน้ำผ่านการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง (Photocatalyst) โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาคอมพอสิตของกราฟิติกคาร์บอนไนไตรด์ (Graphitic carbon nitride, gCN) ที่ดัดแปรด้วยโบรอน (Boron, Br) และซิลิกาชนิด SBA-15

ผลงานวิจัยเรื่อง In-situ development of boron doped g-C3N4 supported SBA-15 nanocomposites for photocatalytic degradation of tetracycline ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research (Tier1 Journal, JCR IF = 8.3)

ของเสียทางการแพทย์ (Medicinal wastes) สามารถปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำได้จากสารตกค้างของอุตสาหกรรมยา ของเสียจากโรงพยาบาล หรือของเสียจากการทิ้งของผู้บริโภค ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เป็นหนึ่งในของเสียทางการแพทย์ที่มีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำในปริมาณมาก ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมและโรงพยาบาลส่วนใหญ่ใช้การบำบัดน้ำแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่สามารถกำจัดยาปฏิชีวนะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เตตราไซคลีน (Tetracycline) เป็นหนึ่งในยาต้านการอักเสบที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ดี องค์ประกอบทางเคมีที่แข็งแรงของเตตราไซคลีนทำให้การกำจัดด้วยวิธีการโดยทั่วไปเป็นไปได้ยาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง (Photocatalyst) ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสารอินทรีย์ เนื่องจากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เกิดการสลายตัวได้อย่างสมบูรณ์ และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทุติยภูมิ

กราฟิติกคาร์บอนไนไตรด์ (Graphitic carbon nitride, gCN) เป็นวัสดุที่มีเสถียรภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้งานได้ในช่วงความยาวคลื่นของแสงที่มองเห็นได้ (Visible light) ซึ่งเป็นสมบัติที่ดีสำหรับการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง gCN ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเร่งปฏิกิริยา B-gCN เป็นวัสดุที่ผ่านการดัดแปรโดยการเติมธาตุโบรอน (Boron, Br) ซึ่งสามารถดูดกลืนแสงได้มากขึ้น และมีสมบัติโครงสร้างทางสัณฐานวิทยา และสมบัติพื้นผิวที่ดีขึ้น ทั้งนี้วัสดุที่ผ่านการดัดแปรดังกล่าวมีพื้นที่ผิวจำเพาะต่ำ การประยุกต์ใช้ตัวรองรับเสถียรภาพชนิด SBA-15 เป็นแนวทางที่มีความน่าสนใจและมีแนวโน้มที่ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยา เนื่องด้วยสมบัติที่ดีหลายประการ เช่น พื้นที่ผิวจำเพาะสูง เสถียรภาพทางความร้อนและการนำไฟฟ้าที่ดี และความสามารถในการกระจายตัวของอิเล็กตรอน (Electron delocalization capacity)

งานวิจัยนี้พัฒนา B-gCN/SBA-15 (BGS) โดยการบรรจุ Melamine และ Boric acid ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ gCN และ Br ตามลำดับ บน SBA-15 ตามด้วยกระบวนการแคลซิเนชัน (Calcination) แบบหนึ่งขั้นตอน เพื่อใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการกำจัดเตตราไซคลีนผ่านการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง BGS ที่มีปริมาณของ Br ที่เหมาะสมสามารถย่อยสลายเตตราไซคลีนได้สูงถึง 93.74% ภายใน 120 นาที ซึ่งสูงกว่าการใช้ gCN หรือ B-gCN อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ BGS ที่เตรียมได้มีเสถียรภาพที่ดีเยี่ยม โดยสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 5 รอบ

อ่านงานวิจัยนี้ได้ที่: doi.org/10.1016/j.envres.2023.115496