การพัฒนาพลาสติกชนิดใหม่จากชีวมวลซึ่งมีคุณสมบัติคล้าย PET

PET
การพัฒนาพลาสติกชนิดใหม่จากชีวมวลซึ่งมีคุณสมบัติคล้าย PET
ในปัจจุบันการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลาสติกเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงมีความพยายามในการพัฒนาพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือย่อยสลายได้ง่ายโดยผลิตจากวัตถุดิบ “ชีวมวลลิกโนเซลลูโลส (Lignocellulosic biomass)” ที่ได้จากพืช อย่างไรก็ดีการผลิตพลาสติกชนิดใหม่จากชีวมวลเพื่อทดแทนพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียมไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากพลาสติกจากชีวมวลยังมีคุณสมบัติด้อยกว่า ทั้งในด้านเสถียรภาพทางความร้อน ความแข็งแรงเชิงกล และการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อีกทั้งราคายังสูงกว่าด้วย
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน (École Polytechnique Fédérale de Lausanne : EPFL) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพลาสติกชนิดใหม่จากชีวมวล ซึ่งมีลักษณะคล้ายพลาสติก PET (polyethylene terephthalate) โดยใช้สารประกอบอินทรีย์ประเภทแอลดีไฮด์ (aldehyde) ในกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถทำให้ส่วนประกอบที่ทำมาจากพืชมีสภาพคงตัวอยู่ได้โดยไม่ถูกทำลายระหว่างกระบวนการสกัด วิธีนี้ทำให้นักวิจัยสามารถสังเคราะห์สารเคมีแบบใหม่จากพืชเพื่อใช้เป็นสารเคมีตั้งต้นในการผลิตพลาสติก (plastic precursor) อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทีมวิจัยระบุว่า โดยการใช้ glyoxylic acid ซึ่งเป็นแอลดีไฮด์ประเภทหนึ่ง จะทำให้โมเลกุลของส่วนที่มาจากพืชทำหน้าที่เป็นเหมือนหน่วยโครงสร้าง (building blocks) ของพลาสติก โดยกระบวนการนี้ สามารถเปลี่ยนของเหลือทิ้งจากการเกษตรหรือน้ำตาลบริสุทธิ์ให้กลายเป็นพลาสติกได้ถึง 25% และ 95% ตามลำดับ
พลาสติกชนิดใหม่นี้สามารถนำไปใช้ได้กับหลายอุตสาหกรรม เช่น บรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ ยารักษาโรค และอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปัจจุบัน นักวิจัยได้นำพลาสติกชนิดใหม่นี้มาผลิตเป็นฟิล์มบรรจุภัณฑ์ (packaging films) เส้นใย (fibers) สำหรับสิ่งทอ และการพิมพ์สามมิติ (3D-printing) แล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *