Recent advances in lignocellulosic biomass for biofuels and value-added bioproducts – A critical review

ศ.ดร.ชวลิต งามจรัสศรีวิชัย นักวิจัยในเครือข่าย CBRC ร่วมกับ ผศ.ดร.สันติ เชื้อเต๊อะ, Dr. Veeramuthu Ashokkumar, Dr. Radhakrishnan Venkatkarthick, Dr. Selvakumar Dharmaraj, Dr. Gopalakrishnan Kumar และ Dr. Wei-Hsin Chen รวบรวมความก้าวหน้าล่าสุดของการแปรรูปชีวมวลประเภทลิกโนเซลลูโลสไปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง

บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Bioresource Technology (Tier 1 Journal, JCR IF = 11.8)

ชีวมวลประเภทลิกโนเซลลูโลส (Lignocellulosic biomass) เช่น เศษไม้ ของเสียทางการเกษตร ขยะอินทรีย์ชุมชน หรือของเสียจากอุตสาหกรรม เป็นทรัพยากรหมุนเวียนจากธรรมชาติที่สำคัญ และมีศักยภาพในการผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารเคมีชีวภาพ (Biofuels and biochemicals) เนื่องจากโครงสร้างที่อุดมไปด้วยน้ำตาล ซึ่งเป็นแหล่งของคาร์บอน ช่วยลดการพึ่งพาทรัพยากรจากแหล่งปิโตรเลียม (Petroleum sources) ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี โครงสร้างของชีวมวลประเภทลิกโนเซลลูโลสที่แตกต่างกันตามชนิดของวัตถุดิบ และความซับซ้อนของโครงสร้างลิกนิน (Lignin) ส่งผลให้มีเทคโนโลยีการปรับสภาพชีวมวล (Biomass pretreatment) หลากหลายรูปแบบทั้งวิธีการทางกายภาพ (Physical method) วิธีการทางเคมี (Chemical method) วิธีการทางชีวภาพ (Biological method) และวิธีการทางเคมีกายภาพ (Physicochemical method) เพื่อให้สามารถย่อยชีวมวลไปเป็นน้ำตาลได้มากขึ้น ทั้งนี้วิธีการทางเคมีกายภาพได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูงที่สุด

บทความนี้ได้รวบรวมวิธีการและเทคโนโลยีล้ำสมัยในการปรับสภาพชีวมวลประเภทลิกโนเซลลูโลส เพื่อย่อยสลายชีวมวลจากโครงสร้างที่ซับซ้อนให้กลายเป็นหน่วยมอนอเมอร์ (Monomers) และรวบรวมเทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรมขั้นสูงสำหรับการพัฒนากระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์เพื่อผลิตสารเคมีมูลค่าสูง อีกทั้งยังนำเสนอถึงการประเมินความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ (Techno-economic assessment) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชีวมวลประเภทลิกโนเซลลูโลสด้วยเทคโนโลยีโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefining technologies)

อ่านบทความนี้ได้ที่ doi.org/10.1016/j.biortech.2021.126195

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *